ความสำคัญ/ความจำเป็น

Posted on Fri, 12/31/2021 - 15:05 by Chatchawan_Narkpan

       มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับผลงานที่ใช้ในการแสดงความเป็นผู้ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งพนักงานสามารถใช้ประกอบการเสนอขอกำหนดตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น หรือใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มหาวิทยาลัยฯ ได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผลการปฏิบัติงานของพนักงานประจำปี นอกจากจะมีการพิจารณาภาระงานร้อยละ 50 ภารกิจองค์กรร้อยละ 30 (ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามภารกิจร้อยละ 12, ประสิทธิภาพการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วนหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายพิเศษร้อยละ 12 และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมร้อยละ 6)  ในการพิจารณาด้านนวัตกรรมขององค์กรนั้น  มหาวิทยาลัยยังพิจารณาประเมินจากคู่มือการปฏิบัติงานและผลการดำเนินงาน ซึ่งถูกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์ควบคู่กันไปด้วย จากนโยบายดังกล่าว ศูนย์บรรณสารฯ ได้ดำเนินงานในหลายลักษณะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยกำหนดวัตถุประสงค์และผลสัมฤทธิ์หลักตามหลักการของ (OKRs: Objectives and Key Results) ในการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization: HPO) ที่สำคัญได้กำหนดกลยุทธ์ให้พนักงานทุกคน (ร้อยละ 100) มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยพนักงานทุกคนมีคู่มือการปฏิบัติงานอย่างน้อย 1 เรื่อง/คน 

       ในยุคดิจิทัลคู่มือการปฏิบัติงานออนไลน์ (Operation Manual Online System : OMOS) เป็นผลงานขององค์กรที่จับต้องได้ที่สะท้อนถึงทุนทางปัญญา (Smart, Whiting, & DeTienne, 2011) และเป็นตัวบ่งชี้ของการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญหลายประการ การมีเป้าหมายองค์กรให้ผู้ปฏิบัติมองเห็นจุดหมายของการดำเนินงานอย่างชัดเจนตรงกัน มีระเบียบ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นแบบแผน การสนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสม (รัญชนา นำอิน, 2555) มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี รวมไปถึงการมีผลตอบแทนที่่พึงพอใจ ที่สำคัญเป็นหลักฐานสำคัญของการจำแนกตำแหน่งระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ผู้มีสมรรถนะในตำแหน่งดังกล่าวต้องสามารถปฏิบัติงานอย่างผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีความชำนาญงาน โดยอาศัยทักษะหรือประสบการณ์ที่สูงมากในการทำงานที่เป็นงานเฉพาะด้าน นอกจากนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติงานต้องทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลออกมาเป็นนวัตกรรมการทำงาน โดยใช้หรือประยุกต์หลักการ เหตุผล แนวคิด และวิธีการ เพื่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำหนด เป็นการพัฒนาแนวทางใหม่สำหรับงานเฉพาะด้าน หรือแนวทางการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติซึ่งมีขอบเขตยุ่งยากและบริบทที่ซับซ้อน (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร, 2564)
 

Back to Top